อาหารไทยภาคต่าง ๆ ของ อาหารไทย

อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ

อาหารไทยภาคเหนือจากร้านอาหารในเชียงใหม่

ภาคเหนือรวม 17 จังหวัดประกอบด้วยภูมินิเวศน์ที่หลากหลายพร้อมด้วยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบลุ่ม ที่ดอน และที่ภูเขาสูงในการดำรงชีพ การตั้งถิ่นฐานของชาวไทยพื้นราบซึ่งเป็นชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ลุ่มบริเวณแม่น้ำสายใหญ่ เช่น ปิง วัง ยม น่าน

ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และ อิง ลาว ของลุ่มน้ำโขง มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัฒนธรรมการปลูกข้าวโดยชาวไทยพื้นราบภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน) มีวัฒนธรรมการผลิตและการบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก

อาหารของคนเหนือจะมีความงดงาม เพราะด้วยนิสัยคนเหนือจะมีกริยาที่แช่มช้อย จึงส่งผลต่ออาหาร โดยมากมักจะเป็นผัก

อาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหลากหลายชาติพันธุ์ เนื่องจากภาคอีสานมีพื้นที่ใหญ่สุดของประเทศ ผู้คนมีวิถีชีวิตผูกติดกับทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในเขตที่ราบ ในแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร อาศัยลำน้ำสำคัญยังชีพ เช่น ชี มูล สงคราม โขง คาน เลย หมัน พอง พรม ก่ำ เหือง พระเพลิง ลำตะคอง ลำเชียงไกร เซิน ปาว ยัง คันฉู อูน เชิงไกร ปลายมาศ โดมใหญ่ โดมน้อย น้ำเสียว เซบาย มูลน้อย เป็นต้น และชุมชนที่อาศัยในเขตภูเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทือกเขาภูพานและเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งความแตกต่างของทรัพยากรธรรมชาติมาก ทำให้ระบบอาหารและรูปแบบการจัดการอาหารของชุมชนแตกต่างกันและมีจำนวนหลากหลายกว่าภูมิภาคอื่น แต่เดิมในช่วงที่ทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ อาหารจากธรรมชาติมีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านนิยมหาอาหารจากแหล่งอาหารธรรมชาติเท่าที่จำเป็นที่จะบริโภคในแต่ละวัน เช่น การหาปลาจากแม่น้ำไม่จำเป็นต้องจับปลามาขังทรมานไว้ หากวันใดจับได้มากก็นำมาแปรรูปเป็นปาแดกหรือปลาร้า ปลาแห้ง ปลาเค็ม น้ำปลา (น้ำที่เกิดจากหน้าของปาแดก) ไว้บริโภค เนื่องจากภาคอีสานมีแหล่งเกลือธรรมชาติเป็นของตนเอง ส่งผลให้ชาวบ้านพึ่งพาอาหารจากตลาดน้อย ชาวบ้านจะปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก สวนหลังบ้านมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแหล่งอาหารประจำครัวเรือน ชาวบ้านมีฐานคิดสำคัญเกี่ยวกับการผลิตอาหาร คือ ผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภค มีเหลือแบ่งปันให้ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านและทำบุญในศาสนา

อาหารอีสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาหารของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และบริเวณอีสานใต้มีลักษณะอาหารร่วมกันกับราชอาณาจักรกัมพูชา เนื่องจากภาคอีสานทั้ง ๒ ส่วนเป็นกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์เดียวกันกับทั้ง ๒ ประเทศ ชาวอีสานรับประทานทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว ข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของประชากรส่วนใหญ่ ส่วนชาวอีสานใต้นั้นรับประทานข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก อาหารอีสานมีหลากหลายรสชาติทั้งเผ็ดจัด เช่น แจ่วหมากเผ็ด ตำหมากหุ่ง เผ็ดน้อย เช่น แกงหอย เค็มมาก เช่น ปาแดก แจ่วบอง เค็มน้อย เช่น แกงเห็ด หวานมาก เช่น หลนหมากนัด หวานน้อย เช่น อ่อมเนื้อ เปรี้ยวมาก เช่น ต้มส้ม เปรี้ยวน้อย เช่น ลาบเนื้อ จืด และขม เช่น แกงขี้เหล็ก แจ่วเพี้ย บางชนิดมีการผสมรสชาดทั้งเผ็ดเค็มเปรี้ยวหวานเข้าด้วยกัน เช่น หลนปาแดก ตำหมากหุ่ง ตำซั่ว อาหารอีสานมีกรรมวิธีการปรุงและการทำหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ก้อย แกง กวน เข้าปุ้น เข้าแผะ คั่ว แจ่ว จุ จ้ำ จี่ จ่าม ซอย แซ่ ซ่า ซุบ ซาว ซกเล็ก ดอง ดาง ดาด ต้ม ตำ ตาก ทอด เหนี่ยน นึ่ง น้ำตก ปิ่น ปิ้ง ผัด เฝอ เพี้ย พัน หมก เมี่ยง หมี่ หม่ำ หมัก มูน หม้อน้อย ยำ ย่าง ห่อ ลาบ หลาม ลวน ลวก เลือดแปง ส้ม ไส้กอก อุ เอาะ อ่อม อบ ฮม และมีทั้งประเภทที่ชาวอีสานคิดค้นขึ้นเองกับประเภทที่รับอิทธิพลจากภายนอกทั้งตะวันตกและเอเชีย เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ ภาคเหนือของไทยและภาคกลางของไทย ส่วนเครื่องแก้ม (แนม) อาหารจำพวกผักนั้นชาวอีสานนิยมทั้งผักสด ผักต้ม ผักลวก ผักแห้ง ผักดอง รวมถึงผลไม้บางประเภทก็สามารถนำมาแกล้มได้ อย่างไรก็ตาม อาหารอีสานได้ขยายอิทธิพลต่อภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศจนได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิ ตำหมากหุ่งหรือส้มหมากหุ่ง (ส้มตำ) น้ำตก ลาบ ก้อย อ่อม (แกงอ่อม) คอหมูย่าง ปิ้งไก่ (ไก่ย่าง) แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ เสือร้องไห้ ซิ้นแห้ง (เนื้อแดดเดียว) ต้มแซบ ไส้กรอกอีสาน ตับหวาน ลวกจิ้มแจ่ว ปาแดกบอง (น้ำพริกปลาร้า) ตับหวาน เขียบหมู (แคบหมู) เข้าปุ้น (ขนมจีน) แจ่วฮ้อน (จิ้มจุ่ม) เป็นต้น

อาหารภาคกลาง

ลักษณะอาหารพื้นบ้านภาคกลางมีที่มาต่างกันดังนี้

  1. ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ เช่น เครื่องแกง แกงกะทิ จะมาจากชาวฮินดู การผัดโดยใช้กระทะและน้ำมันมาจากประเทศจีนหรือขนมเบื้องไทย ดัดแปลงมาจาก ขนมเบื้องญวน ขนมหวานประเภททองหยิบ ทองหยอดรับอิทธิพลจากประเทศทางตะวันตก เป็นต้น
  2. เป็นอาหารที่มักมีการประดิษฐ์ โดยเฉพาะอาหารจากในวังที่มีการคิดสร้างสรรค์อาหารให้เลิศรส วิจิตรบรรจง เช่น ขนมช่อม่วง จ่ามงกุฎ หรุ่ม ลูกชุบ กระเช้าสีดา ทองหยิบ หรืออาหารประเภทข้าวแช่ ผัก ผลไม้แกะสลัก
  3. เป็นอาหารที่มักจะมีเครื่องเคียง ของแนม เช่น น้ำพริกลงเรือ ต้องแนมด้วยหมูหวานแกงกะทิ แนมด้วยปลาเค็ม สะเดาน้ำปลาหวานก็ต้องคู่ กับกุ้งนึ่งหรือปลาดุกย่าง ปลาสลิดทอดรับประทานกับน้ำพริกมะม่วง หรือไข่เค็มที่มักจะรับประทานกับน้ำพริกลงเรือ น้ำพริกมะขามสดหรือน้ำพริกมะม่วง นอกจากนี้ยังมีของแหนมอีกหลายชนิด เช่น ผักดอง ขิงดอง หอมแดงดอง เป็นต้น
  4. เป็นภาคที่มีอาหารว่าง และขนมหวานมากมาย เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ กระทงทอง ค้างคาวเผือก ปั้นขลิบนึ่ง ไส้กรอกปลาแนม ข้าวตังหน้าตั้ง

อาหารภาคใต้

ภาคใต้มีภูมิประเทศเป็นทะเล ชาวใต้นิยมใช้กะปิในการประกอบอาหาร อาหารที่ปรุงในครัวเรือนก็เหมือนๆกับอาหารไทยทั่วไป แต่รสชาติจะจัดจ้านกว่า อาหารใต้ไม่ได้มีเพียงแค่ความเผ็ดจากพริกแต่ยังใช้พริกไทยเพิ่มความเผ็ดร้อนอีกด้วย และเนื่องจากภาคใต้มีชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก ตามจังหวัดชายแดนใต้ก็ได้มีอาหารที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างอาหารใต้ที่ขึ้นชื่อได้แก่

  1. แกงไตปลา (ไตปลา ทำจากเครื่องในปลาผ่านกรมวิธีการหมักดอง) การทำแกงไตปลานั้นจะใส่ไตปลาและเครื่องแกงพริก ใส่สมุนไพรลงไป เนื้อปลาแห้ง หน่อไม้สด บางสูตรใส่ ฟักทอง ถั่วพลู หัวมัน ฯลฯ
  2. คั่วกลิ้ง เป็นผัดเผ็ดที่ใช้เครื่องแกงพริกและสมุนไพรปรุง รสชาติเผ็ดร้อน มักจะใส่เนื้อหมูสับ หรือ ไก่สับ
  3. แกงพริก แกงเผ็ดที่ใช้เครื่องแกงพริกเป็นส่วนผสม เนื้อสัตว์ที่ใช้ปรุงคือ เนื้อหมู กระดูกหมู หรือไก่
  4. แกงป่า แกงเผ็ดที่มีลักษณะที่คล้ายแกงพริกแต่น้ำจะใสกว่า เนื้อสัตว์ที่ใช้ปรุงคือ เนื้อปลา หรือ เนื้อไก่
  5. แกงส้ม หรือแกงเหลืองในภาษากลาง แกงส้มของภาคใต้จะไม่ใส่หัวกระชาย รสชาติจะจัดจ้านกว่าแกงส้มของภาคกลาง และที่สำคัญจะต้องใส่กะปิ
  6. หมูผัดเคยเค็มสะตอ เคยเค็มคือการเอากุ้งเคยมาหมัก ไม่ใช่กะปิ
  7. ปลาต้มส้ม ไม่ใช่แกงเผ็ดแต่เป็นแกงสีเหลืองจากขมิ้น น้ำแกงมีรสชาติเปรี้ยวจากส้มควายและมะขามเปียก

อาหารขึ้นชื่อของชาวมุสลิม

  1. ข้าวยำน้ำบูดู เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมุสลิม ประกอบด้วยข้าวสวยใส่ผักนานาชนิดอย่างเช่น ถั่วฝักยาวซอย ดอกดาหลาซอย ถั่วงอก แตงกวาซอย ใบพลูซอย ใบมะกรูดอ่อนซอย กุ้งแห้งป่น ราดด้วยน้ำบูดู อาจจะโรยพริกป่นตามความต้องการ
  2. กือโป๊ะ เป็นข้าวเกรียบปลาที่มีถิ่นกำเนิดมาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศมาเลเซีย) มีแบบกรอบซึ่งจะหั่นเป็นแผ่นบางๆแบบข้าวเกรียบทั่วไป แบบนิ่มจะมีลักษณะเป็นแท่ง เวลารับประทานจะเหนียวๆ รับประทานกับน้ำจิ้ม
  3. ไก่ย่าง ไก่ย่างของชาวมุสลิมในภาคใต้นั้น จะมีลักษณะพิเศษคือราดน้ำสีแดงลงไป น้ำสีแดงจะมีรสชาติเผ็ดนิดๆ หวาน เค็ม และกลมกล่อม สามารถหาได้ตามแผงอาหารทั่วไป ตามตลาดนัด หรือตลาดเปิดท้ายทั่วไป
  4. ไก่ทอดหาดใหญ่ จริง ๆ แล้วไก่ทอดหาดใหญ่เป็นไก่ทอดทั่วไป แต่ไก่ทอดหาดใหญ่เป็นไก่ทอดที่ขึ้นชื่อในภาคใต้